วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

 บทบาทและมารยาทในการเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกายและนันทนาการ
                 การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทและมารยาทในการเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกายและนันทนาการ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะทางสังคมอีกแบบหนึ่งที่ช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี และเป็นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคลได้ดี โดยความของคำที่เกี่ยวข้องเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจถึงเนื้อหา อาทิ
                  1. กิจกรรมการออกกำลังกาย คือ รูปแบบหนึ่งของกิจกรรมที่ส่งผลให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว เกิดการกระตุ้นในส่วนต่างๆของร่างกาย มากกว่าในสภาวะปกติ
                  2. กิจกรรมนันทนาการ หมายถึง กิจกรรมต่างๆที่เรานำมาใช้ปฏิบัติในเวลาว่าง โดยสมัครใจและนอกเหนือจากกิจกรรมที่จัดเป็นงานประจำ โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่เป็นผู้เข้าร่วมปฏิบัติและเป็นผู้ชม
                  3. บทบาท หมายถึง ลักษณะเฉพาะของการทำหน้าที่ของบุคคลที่กำหนดไว้ในกิจกรรมการออกกำลังกาย หรือ นันทนาการ
                  4. มายาท หมายถึง ลักษณะแสดงออกที่เหมาะสมของบุคคลที่ควรจะปฏิบัติในกิจกรรม
                  5. ผู้นำกิจกรรม หมายถึง ผู้ที่คอยดูแลหรือควบคุมการปฏิบัติกิจกรรม ตลอดจนสาธิตรูปแบบขี้นตอนในการปฏิบัติ
                  6. ผู้ร่วมกิจกรรม หมายถึง ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในบทบาทของผู้ปฏิบัติตามรูปแบบที่กำหนดไว้ รวมไปถึงผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้ชม
ความหมายโดยภาพรวม หมายถึง การแสดงออกของบุคคลในบทบาทที่ถูกต้องเหมาะสมในการเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกาย และนันทนาการ
ความสำคัญของกิจกรรมการออกกำลังกายและกิจกรรมนันทนาการ
1.ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพทางกายและทางจิต ปัจจุบันสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตและสังคมเรานั้นเปลี่ยนไป จากเดิมใช้แรงกายและสมองในการทำงาน ปัจจุบันด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี แรงสมองและแรงกายจึงถูกลดบทบาท ซึ่งส่งผลต่อภาวะสุขภาพระยะยาว กิจกรรมนันทนาการจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหว และใช้ทักษะทางสมอง
                2.ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคมและชุมชน คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมุ่งเน้นแต่แสวงหาผลประโยชน์ บางครั้งทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์หรือความสนใจต่อสมาชิกในสังคมของตน จนอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมในชุมชนได้ กิจกรรมออกกำลังกายหรือนันทนาการจึงเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมและชุมชน
                3.ช่วยป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรม ตลอดจนพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่พึงประสงค์ของบุคคล การใช้กิจกรรมการออกกำลังกายและกิจกรรมนันทนาการที่มีผู้ดูแล หรือคอยให้คำแนะนำที่ดีเป็นกิจกรรมสำคัญในการนำมาใช้กับวัยรุ่น
                4.ช่วยส่งแสริมและสืบทอดค่านิยมในด้านวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของสังคม
                5.ช่วยป้องกันปัญหาการเกิดโรคและการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วย
บทบาทของการเป็นผู้นำและผู้ร่วมกิจกรรมที่ดี 
  
บทบาทของการเป็นผู้นำกิจกรรมที่ดี



1.       ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบและทักษะที่จำเป็นที่นำมาใช้ประกอบกิจกรรม และสามารถนำมาใช้ถ่ายทอดให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยความถูกต้องและปลอดภัย
2.       รู้จักเลือกรูปแบบของกิจกรรมให้เหมาะสมกับเพศ วัย อายุ ฐานะทางเศรษฐกิจของกลุ่ม  ผู้เข้าร่วมปฏิบัติกิจกรรม
3.       ต้องรู้จักและคอยกระตุ้นหรือชี้แนะให้ผู้ร่วมกิจกรรมทั้งในระดับกลุ่ม ชุมชน สังคมได้ตะหนักถึงการเข้าร่วมกิจกรรม
4.       ต้องศึกษาและทำความเข้าใจถึงจุดเด่นและด้อยที่มีในแต่ละคนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเป็นผลสืบเนื่องจากสุขภาพ
5.       ควรมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและแนวทางป้องกันการเกิดการบาดเจ็บ
6.       ต้องรู้จักเตรียมความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์และสถานที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการเข้าร่วมตลอดจนความสำเร็จ
7.       ควรให้คำแนะนำที่ถูกต้อง
8.       ต้องรู้จักดูแลสุขภาพตนเองก่อนดูแลผู้อื่น

บทบาทของการเป็นผู้ร่วมกิจกรรมที่ดี
1.     ต้องยอมรับและปฏิบัติตามกฎกติกา
2.     ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้นำกิจกรรม
3.     ควรสำรวจความพร้อม ความสมบูรณ์ของร่างกายก่อนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น
4.     ขณะร่วมกิจกรรมต้องให้ความสำคัญต่อกระบวนการทำงานแบบกลุ่ม
5.     ต้องมีจิตสำนึกเกี่ยวกับหลักความปลอดภัยตลอดเวลา
6.     หากเกิดอาการผิดปกติควรแจ้งให้ผู้อูแลหรือผู้นำกิจกรรมทราบทันที
7.      ควรมีส่วนช่วยเหลือและให้การดูแลแนะนำแก่สมาชิกที่ร่วมปฏิบัติกิจกรรมด้วย
8.     การเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้งควรแสดงออกถึงความมีมารยาทที่ดี
จากแนวทางที่กล่าวมาข้างต้นถือว่าเป็นบทบาทสำคัญที่ผู้นำกิจกรรมหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมควรระลึกถึงและนำมาปฏิบัติ เพื่อให้กิจกรรมนั้น ๆ บรรลุไปสุ่เป้าหมายของกิจกรรม
ความหมายและความสำคัญของกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทางกาย และ ทางจิตความหมายของกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทาง กาย และ จิต
1.กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทางกาย หมายถึง การฝึกปฏิบัติซึ่งส่งผลต่อสมรรถภาพทางร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้ร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพ มีความต้านทานโรคได้ดี
2. กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทางจิต หมายถึง การฝึกความสามารถทางจิตใจที่จะแก้ไขปัญหา ต่อสู้อุปสรรค มีสภาวะของจิตใจที่มีความสดชื่น แจ่มใส สมารถควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงเป็นปกติ        
ความสำคัญของกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทาง กาย และ จิต
       การทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์  จิตใจมีความสุข พอใจ สมหวังทั้งตนเองและผู้อื่น ผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีจะทำให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำวันไม่ว่าเป็นการเรียนหรือการทำงานเป็นไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ การที่เรารู้สึกว่าทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเรามีความปกติและสมบูรณ์ดีเราก็จะมีความสุข  ในทางตรงข้ามถ้าสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราผิดปกติหรือไม่สมบูรณ์เราก็จะมีความทุกข์ การรู้จักบำรุงรักษาและส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรัชีวิตของทุกคน 
ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า  การรู้จักดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้ชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขสมบูรณ์และมีคุณภาพที่ดี
 หลักในการเลือกกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทาง กาย และ จิต
หลักในการเลือกกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทางกาย
1.    ความเลือกรูปแบบการฝึกที่ถูกต้อง ปลอดภัย และ ได้ประโยชน์สูงสุด
2.     เลือกตามเพศ รูปร่าง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความคล่องแคล่วว่องไว
3.     เลือกตามช่วงวัย วัยเด็กให้เลือกกิจกรรมที่ช่วยเสริมระบบการเคลื่อนไหว ผู้ใหญ่ออกกำลังให้เหมาะสมเพื่อที่ให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง วัยชราเลือกการออกกำลังกายแบบเบาๆให้กล้ามเนื้อและระบบทางเดินหายใจทำงานได้ดี
4.     เลือกตามสภาพร่างกายและอารมณ์
5.     เลือกตามความถนัดและสนใจ จะทำให้พึงพอใจ สนุกสนาน และมีความมั่นใจ
6.     ความเลือกกิจกรรมให้หมุนเวียน เพื่อให้ร่างกายทุกส่วนได้ออกกำลัง
7.     ฝึกจากน้อยไปมาก ฝึกจากเบาไปหาหนัก และจะต้องฝึกจนกระทั่งร่างกายเกิดอาการเหน็ดเหนื่อยปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ การฝึกจะต้องให้เพียงพอกับความต้องการ ของร่างกายของแต่ละบุคคล อย่าฝึกจนกระทั่งเหนื่อยมากเกินไปหรือน้อยเกินไปจนไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยอย่างเต็มที่จะต้องฝึกให้พอเหมาะพอดีกับสภาพร่างกาย และความต้องการของแต่ละคน การฝึกจึงจะได้ผลดี
8.     การฝึกจะต้องทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายเกิดความเคยชินกับสภาพการเคลื่อนไหวของกิจกรรมนั้น ๆ
9.    การฝึกจะต้องใช้หลักการปรับเพิ่มความหนัก (Overload Principles) เป็นระยะ ๆ เพื่อให้ร่างกายมีการพัฒนาปรับตัวดีขึ้น ความหนักที่จะปรับเพิ่มขึ้นนั้น ควรคำนึงด้วยว่าจะเพิ่มขึ้นสักเท่าใด และจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อใด รวมทั้งการฝึกวันละกี่ชั่วโมงและอาทิตย์ละกี่ครั้ง ผู้ฝึกควรมีโปรแกรมในการฝึกในแต่ละสัปดาห์ให้ชัดเจนแน่นอน
10.    การพักผ่อน ภายหลังการฝึกซ้อมในแต่ละวัน จะต้องมีเวลาพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 –  8 ชั่วโมงต่อหนึ่งคืน
11.    การฝึกจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขั้นพื้นฐานเบื้องต้นควรเริ่มต้นด้วยการฝึกความอดทนและเสริมสร้างความแข็งแรงทั่ว ๆ ไปรวมทั้งฝึกทักษะการเคลื่อนไหว เบื้องต้นในช่วงระยะ      3 เดือนแรก ต่อมาควรปรับเพิ่มปริมาณความหนักในการฝึกมากขึ้น มุ่งเน้นการฝึกทักษะความอดทน ความแข็งแรง ตลอดจนสมรรถภาพร่างกาย ในการประกอบกิจกรรมหรือทักษะการเคลื่อนไหวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ฝึกเน้นความสัมพันธ์และประสานงานของระบบกล้ามเนื้อ
12.    การบำรุงร่างกายหรืออาหาร จะต้องรับประทานให้ครบทุกประเภทกล่าวคือในแต่ละมื้อที่รับประทานจะต้องประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน ผัก ผลไม้ เกลือแร่และวิตามิน
13.    อาหาร มีผลต่อการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย เช่น การทานอาหารโปรตีนมากๆ ช่วยเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ แต่ไม่ทำให้กำลัง และความอดทนดีขึ้น อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท จะทำให้พลังงานโดยตรงภูมิอากาศ มีผลต่อการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายมาก ความร้อนทำให้ความอดทนลดลง เพราะทำให้การระบายความร้อน ที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อทำได้ยากขึ้น ดังนั้นการเลือกเวลาในการฝึก หรือเสริมสร้างสมรรถภาพจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เวลาเช้าตรู่อากาศเย็นกว่ากลางวัน เหมาะสำหรับการฝึกความอดทน ส่วนความเร็ว และ ความคล่องแคล่วว่องไวฝึกช่วงบ่ายก็ได้
14.    เครื่องแต่งกาย ลักษณะของเสื้อ เช่น แขนสั้น แขนยาว เนื้อผ้า สีของผ้า จะมีผลกระทบต่อการออกกำลังกายในแง่ของความคล่องตัว การระบายความร้อน
15.     แอลกอฮอล์ มีผลต่อสมรรถภาพโดยตรง แอลกอฮอล์ที่สะสมอยู่ในเลือดจะกระตุ้นให้ประสาทส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนไหว การมองเห็นด้อยประสิทธิภาพลง
16.     บุหรี่ ในควันบุหรี่มีสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย นิโคตินทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูง สารพวกน้ำมันทาร์ จะเคลือบผนังถุงลมปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซในถุงลมยากขึ้น คาร์บอนมอนน็อคไซด์ ในควันบุหรี่ยังขัดขวางการจับออกซิเจน ในเลือดทำให้ประสิทธิภาพ ในระบบไหลเวียนโลหิตต่ำลง
หลักในการเลือกกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทางจิต
1.    ต้องปฏิบัติควบคู่กับการเสริมสมรรถภาพทางกาย
2.    ควรสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง มีความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะสามารถแก้ไขต่อปัญหาอุปสรรคได้ มองโลกในแง่ดี
3.    สภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ที่ดีจะมาพร้อมกันการเสริมสุขภาพทางกายจะทำให้สุขภาพทางจิตดีด้วย
4.    เลือกทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ จะทำมีความสุข สนุกสนาน มีความมั่นใจ และได้รับประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมนั้นๆ
5.    สถานที่ควรเป็นที่ๆสงบนิ่ง ถูกสุขลักษณะ เป็นระเบียบเรียบร้อย  ไม่มีสิ่งรำคาญหรือรบกวน เช่น เสียง แสง กลิ่น ควัน
6.    ควรเลือกกิจกรรมในช่วงเวลาที่เว้นว่างจากภารกิจประจำวันให้เหมาะสมกับเวลาและโอกาศ
7.    ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพทางกาย หรือ ทางจิต ควรจะทำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง จะส่งผลให้จิตมีความยิ่งยืนและเกิดผลดีต่อบุคคล


ตัวอย่างรูปแบบกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายและทางจิต








รูปแบบของกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทางกาย
1.รูปแบบท่าปฏิบัติเฉพาะบุคคล
2.รูปแบบท่าปฏิบัติกับคู่
3.รูปแบบการออกกำลังกายแบบแอโรบิก



 รูปแบบของกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทางจิต
 เช่น การวิ่งสมาธิ การทำงานศิลปะ การใช้เทคนิคความเงียบ

ที่มา
จากหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน สุขศึกษาและพลศึกษา ม.6 หน้า 141-144
ณ วันที่ 10 พ.ย.2553